01

01

เกี่ยวกับ อผศ.

ประวัติความเป็นมาและตราสัญลักษณ์


                  ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ประเทศไทยได้ส่งกำลังทหารเข้าร่วมทำการรบในสงครามมหาเอเซียบูรพา เมื่อสิ้นสุดสงครามทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ในการรบถูกปลดประจำการโดยกระทันหัน ส่งผลให้ตัวทหารและครอบครัวได้รับความเดือดร้อนในการครองชีพเป็นอย่างยิ่ง รัฐบาลในขณะนั้นซึ่งมี พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี จึงได้มอบหมายให้กระทรวงกลาโหมพิจารณา ดำเนินการช่วยเหลือ กระทรวงกลาโหมจึงได้ตั้งคณะกรรมการพิจารณาหาทางช่วยเหลือทหารกองหนุนขึ้น เมื่อวันที่ ๑๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๖ โดยมีที่ทำการอยู่ในกรมเสนาธิการทหาร (ปัจจุบันคือ กองบัญชาการทหารสูงสุด) และใช้เจ้าหน้าที่ของกรมเสนาธิการเป็นผู้ปฏิบัติงาน สำหรับงบประมาณในการสงเคราะห์ ได้รับเงินอุดหนุนจากกระทรวงกลาโหมจำนวนหนึ่ง

                  ต่อมาเมื่อมีการขยายการสงเคราะห์เพิ่มมากขึ้น จึงได้มีการพิจารณาว่าการดำเนินงาน ในรูปของคณะกรรมการจะขาดความรัดกุมและความเหมาะสม กระทรวงกลาโหมจึงได้เสนอเป็นพระราชบัญญัติ จัดตั้ง องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก หรือ ที่เรียกโดยย่อว่า “อผศ.” ขึ้นเป็นหน่วยงานถาวร เพื่อทำหน้าที่ ในการสงเคราะห์ทหารผ่านศึกโดยตรง พระราชบัญญัติฉบับนี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๑ จึงนับเป็นวันแรกที่มีกฎหมายรองรับการจัดตั้งองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก และการเป็นทหารผ่านศึก ดังนั้น วันที่ ๓ กุมภาพันธ์ของทุกปี จึงถือว่าเป็นวันสถาปนาองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก และเป็น “วันทหารผ่านศึก”

                  ในปี พ.ศ. ๒๕๑๐ สภาทหารผ่านศึก สภากลาโหม และรัฐบาล ได้พิจารณาปรับปรุง พระราชบัญญัติองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก โดยได้ขยายการสงเคราะห์ครอบคลุมไปถึงทหาร ตำรวจ ข้าราชการพลเรือนและพลเรือน ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ป้องกันหรือปราบปรามการกระทำอันเป็นภัยต่อความมั่นคง หรือความปลอดภัยแห่งราชอาณาจักร ทั้งใน และนอกประเทศตามที่กระทรวงกลาโหมหรือสำนักนายกรัฐมนตรีกำหนด รวมทั้งทหารนอกประจำการด้วย และให้โอนกิจการของมูลนิธิ ช่วยเหลือทหารและครอบครัว ที่ไปช่วยสหประชาชาติทำการรบ ณ ประเทศเกาหลี มาอยู่ในองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกด้วย พระราชบัญญัติฉบับนี้ได้ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๐ เรียกว่า “พระราชบัญญัติองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก พ.ศ. ๒๕๑๐” ซึ่งเป็นฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

ไม่มีความคิดเห็น

รูปภาพธีมโดย enjoynz. ขับเคลื่อนโดย Blogger.